สิ่งที่ต้องควบคุมระหว่างการปลูก
การจัดการธาตุอาหารพืช จะมีสิ่งที่ต้องคอยดูแลและควบคุมดังนี้
1. ค่า EC ของสารละลาย เป็นค่าบอกความเข้มข้นของสารละลายที่ใช้ในการปลูกในระบบ Hydroponics
ค่าจะอยู่ในช่วง 1 – 4 Ms/cm ขึ้นอยู่กับ ชนิดพืช ช่วงอายุการเจริญของพืช สภาพภูมิอากาศ คือ อุณหภูมิ
ความเข้มแสง ฯลฯ
2. ค่า pH เป็นค่าบอกความเป็นกรด-ด่างของสารละลาย โดยทั่วไป จะควบคุมให้อยู่ในช่วง 5.5-6.5 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ธาตุอาหารในสารละลายอยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด


3. ปริมาณธาตุอาหารในสารละลาย ซึ่งสารละลายธาตุอาหารพืชจะต้องมีครบทั้ง 12 ตัว คือ N, P, K, Ca, Mg, S, Zn, Mo, B, Fe, Mn, Cu ยกเว้น Cl ซึ่งถึงแม้จะเป็นธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่ Cl มักจะมีเจือปนอยู่ในสารละลายธาตุอาหารของพืชในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว โดยจะปนมากับน้ำ หรือปุ๋ยที่ใช้เตรียมสารละลาย ดังนั้น ในการคำนวณเพื่อเตรียมสารละลายฯ จะไม่มีการใส่ Cl นอกจากในสารละลายจะต้องมีธาตุต่างๆครบ ธาตุเหล่านี้ต้องควบคุมให้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชตลอดการปลูก
4. อุณหภูมิ และปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในสารละลาย โดยอุณหภูมิและปริมาณออกซิเจน จะมีความสัมพันธ์แบบผกผันกัน คือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณการละลายตัวของออกซิเจนจะลดลง ดังนั้น ในเขตร้อนแถบบ้านเรา อุณหภูมิสารละลายในระบบ NFT อาจจะสูงขึ้นถึง 35 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้การละลายตัวของออกซิเจนสูงสุดได้เพียง 6.8 mg/l ดังนั้น ปริมาณออกซิเจนในสารละลาย เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในการปลูกพืชระบบ NFT ในเขตร้อน โดยทั่วไปต้องรักษาระดับออกซิเจนในสารละลายให้สูงกว่า 6 mg/l

5. ต้องคอยป้องกันโรคพืชในสารละลายธาตุอาหาร ซึ่งเชื้อโรคที่มีปัญหามากและพบบ่อยในการปลูกพืชในระบบ NFT คือ เชื้อ Pythium ซึ่งเป็นสาเหตุให้รากพืชเน่าเป็นสีน้ำตาล-ดำ และเป็นโรคที่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงในระบบที่มีการนำสารละลายกลับมาใช้ใหม่ โดยทั่วไปเมื่อโรคนี้ระบาดในสารละลาย จะเป็นการยากมากในการกำจัด หรือรักษาให้หายได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันโดยการทำความสะอาดระบบปลูกก่อนปลูกทุกครั้ง
6. การกำจัดสารที่รากปล่อยออกสู่สารละลาย พวกสารอินทรีย์ต่างๆ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งโดยทั่วไป จะเอาออกจากบริเวณรากพืชโดยการหมุนเวียนสารละลาย ผ่านรากพืชในอัตราที่เร็วพอ เพื่อป้องกันการสะสมจนอยู่ในปริมาณที่อาจเป็นพิษต่อพืช
Cr. kasetloongkim
ที่มา : เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินรุ่น 6 โดย รศ.ดร. อิทธิสุนทร นันทกิจ
|