H2O Hydro Garden
ที่อยู่: เลขที่ 8 ซอย นาคนิวาส 53 ลาดพร้าว 71 แขวง ลาดพร้าว กทม. 10230
เบอร์โทร: 02 932 9200 มือถือ: 086 500 9698, 084 106 6831
.jpg)
.jpg)
.png)
โรคที่เกิดกับต้นอ่อนหรือกล้าผัก โรคที่เกิดกับต้นอ่อนหรือกล้าผัก มีคำถามถามกันมากเกี่ยวกับเรื่องกล้าเน่าเสียเป็นจำนวนมากนะคะ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุแต่สาเหตุหลักเกิดเนื่องมาจากความชื้นสูง นี่ถือเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ผลผลิตของฟาร์มทุกฟาร์มนะคะ ดังนั้นเราจึงควรที่จะมาทำความรู้จักกับโรคพืชตัวที่ทำความเสียหายให้พืชในระยะกล้ากันค่ะ โรคเน่าคอดิน ( Damping-off) โรคนี้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่พืชในระยะกล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้าของพืชผักต่างๆแทบทุกชนิด รวมทั้งพืชไร่ก็ได้รับความเสียหายจากโรคนี้มากเช่นกัน ลักษณะอาการ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ 1. Pre-emergence damping off or seed rot เชื้อโรคเข้าทำลายเมล็ดพืชตั้งแต่ก่อนงอก ทำให้เมล็ดเน่า หรือทำลายหลังจากที่เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนแล้ว แต่ยังไม่ทันโผล่พ้นดินขึ้นมาก็เน่าตายเสียก่อน ลักษณะที่พบเสมอในกระบะ หรือแปลงเพาะกล้าก็คือ หลังจากที่หว่านเมล็ดพืชลงไป มีต้นกล้างอกขึ้นมาไม่สม่ำเสมอ หายไปเป็นหย่อมๆ 2. Post-emergence damping off เชื้อโรคเข้าทำลายหลังจากที่ต้นกล้างอกโผล่พ้นดินขึ้นมาแล้ว โดยอาการเริ่มแรกจะเกิดรอยช้ำใสๆ ที่บริเวณโคนของต้นกล้า รอยช้ำจะแผ่ขยายออกรอบโคนต้น และกลายเป็นสีน้ำตาล เนื้อเยื่อส่วนนี้จะคอดลง ทำให้ต้นกล้าหักพับที่ระดับคอดิน ลักษณะที่พบในกระบะ หรือแปลงเพาะกล้าคือ ต้นกล้าจะเหลืองซีด และฟุบตายเป็นหย่อมๆ โรคเน่าคอดินนี้ บางครั้งอาจเรียกว่า โรคกล้าไหม้แห้ง ( seeding blight) เนื่องจากทำให้ต้นกล้าเหลืองและแห้งตาย สาเหตุโรค เกิดจากเชื้อราในดินหลายสกุล ได้แก่ Pythium spp., Phytophthora spp., Rhizoctonia sp., Sclerotium sp. และ P.splendens Pythium spp. เป็นราชั้นต่ำใน KINGDOM CHROMISTA Class Oomycetes Family Pythiaceae วงจรของโรคเน่าคอดินที่เกิดจาก Pythium spp. การอยู่ข้ามฤดู ( over wintering) เชื้อราพวกนี้สามารถอยู่ข้ามฤดูได้ในรูปของเส้นใยที่พักตัว ( dormant mycelium) หรือในรูปของ oospore ติดอยู่ในเศษซากพืชเป็นโรค ที่ตกค้างอยู่ในแปลง หรือติดไปกับเมล็ดพันธุ์ ในกรณีที่มี oospore ของเชื้อสาเหตุของโรคตกค้างอยู่ในดินในแปลงปลูกพืช เมื่อหว่านเมล็ดพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อลงไป ในขณะที่เมล็ดพืชได้รับความชื้นและเริ่มงอก สารที่ปล่อยออกมาจากรากจะกระตุ้นการงอกของ oospore ในสภาพอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม oospore จะงอก germ tube เข้าทำลายพืชโดยตรง ที่บริเวณเนื้อเยื่อที่อวบอ่อน เมื่อเข้าสู่พืชและก่อให้เกิดการติดเชื้อได้สำเร็จ เชื้อราจะสร้างเส้นใยเจริญอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์พืช ดูดน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร และเมื่อเส้นใยเจริญเต็มที่ก็จะผลิต sporangium เป็นจำนวนมาก และใช้เป็น inoculum ในการเข้าทำลายพืชที่ปลูกอยู่ในแปลง เกิดการแพร่ระบาด ทำให้กล้าผักตายเป็นจำนวนมาก ในระยะนี้ อุณหภูมิความชื้น มีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมาก มีการศึกษาพบว่า ถ้าอุณหภูมิอยู่ในช่วง 18-25 องศา ซ. ทั้ง oospore และ sporangium มักจะงอก germ tube และใช้ตัวมันเองเป็น inoculum เข้าทำลายพืชโดยตรง แต่ถ้าอุณหภูมิอยู่ในช่วง 10-18 องศาซ. ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมในการผลิต zoospore เชื้อราพวกนี้จะสร้าง zoospore ใน vesicle และใช้ zoospore เป็น inoculum ในการเข้าทำลายพืช ดังนั้นในช่วงที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ( 10-18 องศาซ.) จะมีปริมาณ inoculum ในแปลงสูง โอกาสที่จะเกิดการระบาดของโรคมักจะสูงตามไปด้วย ในกรณีที่มีเชื้อติดมากับเมล็ดพันธุ์ เมื่อนำไปปลูกในแปลง เมล็ดได้รับความชื้นก็จะเริ่มงอก ในขณะเดียวกัน เชื้อราก็จะเจริญได้ดี และเข้าสู่พืชที่บริเวณใต้ใบเลี้ยงของต้นอ่อน ก่อให้เกิดการติดเชื้อและสร้างเส้นใยอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้ต้นอ่อนเน่าตายก่อนที่จะแทงโผล่พ้นผิวดินขึ้นมาได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่พืชและก่อให้เกิดการติดเชื้อได้สำเร็จ จะเจริญสร้างเส้นใยและผลิต sporangium ชุดใหม่ขึ้นมากมายอยู่บนพืช ในช่วงที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อ sporangium อาจงอก germ tube เข้าทำลายพืชโดยตรง หรือสร้าง zoospore ใน vesicle และปล่อย zoospore เข้าทำลายพืชต้นเดิมหรือต้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งถึงปลายฤดูหรือพืชที่เป็นโรคตายลง เชื้อราเริ่มขาดแคลนอาหาร ประกอบกับสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม จะเกิดการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยเชื้อราจะสร้าง oospore เพื่อใช้ในการอยู่ข้ามฤดูต่อไป สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคเน่าคอดิน 1. ความชื้นในแปลงเพาะกล้าสูง เนื่องจากฝนตกชุก รดน้ำมากเกินไป และดินระบายน้ำไม่ดีพอ หรือ เพาะกล้าแน่นเกินไป ทำให้ความชื้นระหว่างต้นสูง ซึ่งสภาพเหมาะต่อการงอก และเข้าทำลายพืชของสปอร์เชื้อรา 2. การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนแก่พืชในระยะกล้ามากเกินไป ปุ๋ยไนโตรเจนจะเร่งการเจริญเติบโตของต้นกล้า การที่กล้าโตเร็วมากเกินไป ทำให้เซลล์อวบอ่อนเปราะบาง ง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุโรค การควบคุมโรค 1. อบฆ่าเชื้อราในดินแปลงเพาะกล้า ด้วยไอน้ำร้อนหรือสารเคมีชนิดอบดิน ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้สารเคมี อาจลดปริมาณเชื้อโรคในดิน โดยการหว่านผงเชื้อแห้งไตรโคเดอร์มา อัตรา 25 – 50 กรัมต่อตารางเมตร คลุกเคล้ากับดินในระดับลึก 5 – 10 ซม. ก่อนหว่านเมล็ด คลุกผิวหน้าแปลงด้วยฟาง รดน้ำพอควร 2. จัดการระบายน้ำในแปลงให้ดี อย่าให้มีน้ำขังแฉะ 3. คลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ ด้วยสารเคมีควบคุมเชื้อราชนิดคลุกเมล็ด หรือถ้าไม่ต้องการใช้สารเคมี อาจคลุกเมล็ดด้วยไตรโคเดอร์มา อัตรา 10 -20 กรัม ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม โดยผสมสารจับใบด้วยเล็กน้อย 4. รดน้ำแต่พอควรและเป็นครั้งคราว ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแก่พืชในเวลาเย็นหรือใกล้ค่ำ 5. ไม่ควรเพาะกล้าแน่นเกินไป เพราะจะทำให้ความชื้นระหว่างต้นสูง เกิดสภาพเหมาะต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรค การแบ่งแปลงเพาะกล้าออกเป็นแปลงย่อยๆจะช่วยให้ถ่ายเทอากาศได้ดี และง่ายต่อการดูแลรักษา 6. ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระยะกล้ามากเกินไป 7. เมื่อพบโรค ควรขุดต้นกล้าที่เป็นโรคและต้นรอบๆใส่ถุงพลาสติก นำออกไปเผาทิ้งนอกแปลง คลุกหรือราดดินบริเวณนั้นด้วย metalaxyl ผสม mancozeb หรือ ไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ที่มา : โรคของผักและการควบคุมโรค โดย อ.ศศิธร วุฒิวณิชย์ Photo source: http://www.edinburghgardenschool.com/2015/09/damping-off/ |