H2O Hydro Garden
ที่อยู่: เลขที่ 8 ซอย นาคนิวาส 53 ลาดพร้าว 71 แขวง ลาดพร้าว กทม. 10230
เบอร์โทร: 02 932 9200 มือถือ: 086 500 9698, 084 106 6831
3 ระบบไฮโดรยอดนิยม
3 ระบบยอดฮิต สำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ รู้หรือไม่ว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้นมีหลากหลายระบบมากในโลก เพราะการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์คือการปลูกพืชแบบไหนก็ได้ที่ไม่ใช้ดิน หลักการง่ายๆของการปลูกพืชแบบนี้นั้นคือการปลูกพืชในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชอยู่ โดยใช้วัสดุอื่นมาแทนที่ดินเพื่อทำหน้าที่ให้รากยึดเกาะเท่านั้น เช่น ทราย หินภูเขาไฟ เม็ดดินเผา ฟองน้ำ นั่นเอง ส่วนพืชนั้นก็รับสารละลายธาตุอาหารพืชจากน้ำโดยตรง นอกจากนั้นแล้วการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้นยังสามารถทำได้ทั้งแบบน้ำนิ่งและน้ำวน ซึ่งในบทความนี้เราจะขอพูดถึงแค่ระบบน้ำวนเท่านั้นค่ะ เพราะเป็นระบบที่แนะนำให้ใช้ในการปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรม 1 ระบบปลูกไฮโดรโปนิกส์แบบ NFT (Nutrient Film Technique) ระบบNFTนั้นคือระบบที่เราเห็นกันบ่อยที่สุดในการปลูกผักไฮโดร ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ระบบนี้หน้าตาเป็นรางแบนๆ โดยที่ธาตุอาหารนั้นจะไหลผ่านท่อเป็น แผ่นฟิล์มบางๆ (หนาประมาณ 2-3 มิลิเมตร) ผ่านรากของต้นพืชในรางปลูก พืชในระบบนั้นจะได้ธาตุอาหารจากน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งมีช่องว่างในรางปลูกให้รากอากาศสามารถเติบโตได้อีกด้วย ในระบบNFTนั้นมีทั้งแบบรางปิดและแบบฝาเปิด H2O แนะนำให้ซื้อรางแบบเปิดเนื่องจากการทำความสะอาดนั้นทำได้ง่ายและสะดวกกว่าเยอะ เวลาเลือกซื้อรางNFT ควรดูหลายอย่างประกอบกัน เช่นราคา ความหนาของพลาสติกที่ใช้ การออกแบบรูปทรงของรางว่าทำความสะอาดง่ายไหม โรงงานที่ผลิต ถ้าจะให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อรางปลูกกับเจ้าไหน เราควรขอไปดูฟาร์มที่ใช้งานจริงเสียก่อน เพื่อความมั่นใจว่าการลงทุนของเรานั้นคุ้มค่า สำหรับรางNFTนั้นมีข้อเสียอยู่สองเรื่องคือ ราคาค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับระบบอื่น และข้อเสียอีกอย่างคือหากไฟฟ้าดับติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ต้นไม้ตายเนื่องจากรางจะแห้งเร็วมากหากปั๊มน้ำหยุดทำงาน 2. ระบบปลูกไฮโดรโปนิกส์แบบ DFT (Deep Flow Technique) เป็นระบบที่ใช้ท่อ PVC มาปลูกผัก ซึ่งโดยรวมแล้วจะคล้ายๆกับการปลูกแบบNFT แต่รางDFTนั้นปริมาณน้ำในท่อจะเยอะกว่า แบบNFT ต้นทุนก็ถูกกว่าระบบNFTค่อนข้างมาก น้ำในระบบที่มากกว่ายังช่วยเรื่องความร้อนของน้ำในรางปลูก เพราะน้ำในรางมีเยอะกว่าอุณหภูมิน้ำจะเย็นกว่าระบบNFTในหน้าร้อน ทำให้เป็นโรครากเน่าช้ากว่า แต่ระบบนี้ก็มีข้อเสียเรื่องความสะอาดเนื่องจากเป็นท่อPVC จึงทำให้ล้างทำความสะอาดค่อนข้างยาก ไม่สามารถเปิดท่อมาขัดทำความสะอาดได้ จึงทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ส่งผลกับการเกิดโรคระบาดในแปลงสะสมวนเวียนได้ง่ายขึ้น 3. ระบบปลูกไฮโดรโปนิกส์แบบ DRFT (Dynamic Root Floating Technique) เป็นการปลูกพืชแบบน้ำเยอะ ส่วนมากนิยมปลูกกันในถาดโฟมรองด้วยแผ่นพลาสติกใส่น้ำ แล้วนำแผ่นโฟมมาลอยน้ำเจาะรู และปลูกพืชบนแผ่นโฟม โดยระบบนี้เหมาะสำหรับปลูกผักไทยที่สุด เนื่องจากแผ่นโฟมนั้นไม่เหมาะกับการปลูกพืชทรงพุ่มแบบผักสลัดที่เราเห็นทั่วไปเช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด เนื่องจากแผ่นโฟมนั้นทำความสะอาดได้ยาก เชื้อโรคที่อยู่บนแผ่นโฟม จะทำให้ใบของต้นพืชเน่าและเสียหาย การปลูกแบบนี้จึงเหมาะกับพืชทรงสูงเช่น คอส ขึ้นฉ่าย หรือ กะเพรา นั่นเอง ข้อดีของระบบนี้คือการลงทุนค่อนข้างต่ำ และสามารถประยุกต์ใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่มาทำชุดปลูกได้ ทำให้มีการใช้กันอย่างมากในประเทศไทย
|