อีโคไล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ร้ายแรง อีโคไลโอ 104 (Shigatoxin-producing E.coli หรือ STEC O 104) ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรปขณะนี้ ล่าสุด ทางการเยอรมนีอยู่ระหว่างรอลุ้นผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ หลังจากสันนิษฐานว่า"ถั่วงอก"จากไร่เกษตรอินทรีย์แห่งหนึ่งในเขตอูลเซ่น รัฐโลเวอร์ แซกซอนนี ทางตอนเหนือของเยอรมนี อาจเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในครั้งนี้
หันกลับมาที่ประเทศไทย แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันอย่างต่อเนื่องว่ายังไม่พบเชื้อชนิดดังกล่าว แต่ก็ได้ออก 4 มาตรการเฝ้าระวังเช่นกัน ทั้งการแจกเอกสารให้ความรู้สำหรับผู้เดินทางเข้า-ออกกลุ่มประเทศอียู การสุ่มตรวจอาหารนำเข้า มีคำสั่งให้โรงพยาบาลทุกสังกัดทั่วประเทศดูแลผู้ป่วยที่มีอาการต้องสงสัยเป็นพิเศษ อาทิ ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นต้น และล่าสุดกรมอนามัยได้จัดทำแผ่นพับคู่มือ "ผักสดปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย" ประมาณ 100,000 ฉบับเตรียมกระจายไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สถานีอนามัย (สอ.) ทั่วประเทศเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน ร้านค้า ตลาดฯลฯ นำไปใช้เป็นคู่มือบริโภคผักและผลไม้สดอย่างปลอดภัย
สำหรับรายละเอียดของคู่มือดังกล่าว จะเน้นการแนะนำวิธีเลือกซื้อผักและผลไม้สดให้สะอาด ปลอดภัย ประกอบด้วย
1. เลือกซื้อผักผลไม้สดที่สะอาด ไม่มีคราบดิน หรือคราบขาวของสารพิษกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อรา ตามใบ ซอกใบ หรือก้านผัก ไม่มีสีขาวหรือกลิ่นฉุนผิดปกติ
2. เลือกซื้อผักสดที่มีรูพรุนเป็นรอยกัดแทะของหนอนแมลงอยู่บ้าง ไม่ควรเลือกซื้อผักที่มีใบสวยงาม เพราะถ้าหนอนกัดแทะผักได้แสดงว่ามีสารพิษกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายมาก
3. เลือกซื้อผักสดอนามัย หรือผักกางมุ้งตามโครงการพิเศษของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแหล่งปลูกที่เชื่อถือได้อื่นๆ เช่น เลมอนกรีนเป็นต้น และสับเปลี่ยนแหล่งซื้ออยู่เสมอ
4. เลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาล เนื่องจากผักผลไม้ที่ปลูกได้ตามฤดูกาลจะมีโอกาสเจริญเติบโตได้ดีกว่าผักผลไม้นอกฤดูกาล ทำให้ลดการใช้สารเคมี และปุ๋ย
5. เลือกกินผักพื้นบ้าน เช่นผักแว่น ผักหวาน ผักติ้ว ผักกระโดน ผักกระถิน ยอดแค และผักที่สามารถปลูกเองได้ง่ายๆ
6. ไม่กินผักชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรกินให้หลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการรับพิษสะสม
ส่วนวิธีล้างผักผลไม้สดลดพิษภัย ได้แก่
1. ควรปอกเปลือกหรือลอกเปลือกชั้นนอกของผักสดหรือผลไม้ออก แกะเป็นกลีบหรือแกะใบออกจากต้น และล้างออกด้วยน้ำสะอาด
2. ล้างผักสดด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งและคลี่ใบถู หรือล้างด้วยการใช้น้ำก๊อกไหลผ่านผักสดนานอย่างน้อย 2 นาที หรือใช้สารละลายอื่นๆ อาทิ น้ำเกลือ น้ำปูนคลอรีนน้ำส้มสายชู เป็นต้น
3. ผักที่มีลักษณะเป็นหัวผล หรือผลไม้ที่กินทั้งเปลือก เช่น องุ่น ควรล้างด้วยน้ำผสมด่างทับทิม หรือล้างด้วยน้ำเปล่าและลอกเปลือกทิ้ง
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังร้านอาหาร ร้านค้าที่เน้นผักสด อาทิ ร้านส้มตำ ร้านอาหารเวียดนาม ฯลฯ ล้างผักให้สะอาดก่อนถึงมือผู้บริโภค ส่วนผลไม้ควรปอกเปลือกก่อนเสิร์ฟ หากเป็นอาหารควรเน้นปรุงสุกด้วยความร้อนเกิน 70 องศาเซลเซียส และให้รักษาความสะอาดห้องน้ำและห้องสุขา
ด้านกรมควบคุมโรค (คร.) ได้จัดพิมพ์คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากยุโรป ให้ความรู้เรื่องโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ชนิดรุนแรง โดยประสานการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ประสานต่อไปยัง 13 สายการบิน ดำเนินการแจกเอกสารให้กับผู้โดยสารในสายการบินที่บินระหว่างประเทศไทย และเยอรมนี ออสเตรียสาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร
โดยคำแนะนำระบุว่า หลังจากออกจากประเทศดังกล่าวและมีอาการดังต่อไปนี้ข้อใดข้อหนึ่งภายใน 7 วันประกอบด้วย อุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือมีเลือดปน หรือมีมูกเลือดปน หรือปวดท้องอาเจียน ปัสสาวะออกน้อย หรือสงสัยว่ามีภาวะไตวาย เช่น มีปริมาณน้ำปัสสาวะลดน้อยลงอย่างทันทีทันใด ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
หากปฏิบัติตามนี้พร้อมกับยึดหลัก กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือรับรองห่างไกลจากเชื้ออีโคไล แน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน